รีวิว ศพเด็ก 2002 : สุดยอดความเก๋า ของพจน์ อานนท์/อภินันท์

  • นักแสดง สมชาย เข็มกลัด , พิชญ์นาฏ สาขากร , ด.ญ ชินารดี อนุพงษ์ภิชาติ ศพเด็ก 2002
  • ผู้กำกับ พจน์ อานนท์
    Tag หนังไทย , หนังเอเชีย , ความรักจาก แม่ , รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ , สยองต้อนรับฮาโลวีน , หนังผี , หนังผีไทย , พระนครฟิลม์

เรื่องย่อ ศพเด็ก 2002 The Unborn Child

ศพเด็ก 2002 เป็นเรื่องราวของคนหลายชีวิตที่ต้องเข้ามาผูกพัน และเกี่ยวข้องกัน ตรัย (สมชาย เข็มกลัด) นักข่าวสายอาชญากรรม และ พิม (พิชญ์นาฏ สาขากร) อาจารย์ประจำโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ทั้งคู่มีลูกสาวที่น่ารักคือ ใยไหม (ด.ญ ชินารดี อนุพงษ์ภิชาติ) ทั้งหมดอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ในวันหนึ่งกลับเกิดเหตุการณ์บางอย่างทำให้ต้องผจญกับเรื่องราวแปลก ๆ ในขณะที่ เบล (กานต์ธิดา ชา ) กับ บอม (พีรวิชญ์ บุนนาค) นักเรียนที่พิมเป็นอาจารย์ประจำชั้น อยู่ ๆ เกิดท้องขึ้นมาจนทำให้พิมต้องเข้ามาช่วยเหลือ และทำให้บอมกับเบลต้องมาเจอกับเรื่องราวน่าสะพรึงกลัว แต่กลับเป็นบทเรียนที่ไม่สามารถถอยกลับมาเริ่มใหม่ได้อีก? ทุกคนต้องผจญกับชะตากรรมที่ตนเป็นผู้ก่อ กับความอาฆาตของวิญญาณเด็กนับพัน

เรื่องความเร็วในการทำหนัง เมืองไทยนี่ ผมเห็นอยู่สองคน หนึ่งคือคุณต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค และอีกหนึ่ง คือคุณพจน์ อานนท์

ทั้งสองคน ไม่รู้ว่าไปเอาพลังงานมาจากไหน หรือเอาความคิดสร้างสรรค์มาจากแห่งหนใด

อย่า…อย่าเพิ่งยิงมุกนะครับว่า ก็มันไม่มีความคิดสร้างสรรค์เลยนี่ แล้วจะถามไปทำอะไรว่าไปหามาจากไหน เพราะถ้าพูดแบบนั้น ก็เท่ากับว่าเรากำลังดูแคลนกล้ามสมองของพวกเขา

คนเหล่านี้ ผมว่าเขาก็มีฝีมือของเขานะครับ อย่างน้อยที่สุด ก็จับจุดตลาดคนดูผู้ชมได้ว่า อยากดูหนังอารมณ์ประมาณไหน แล้วก็เสิร์ฟหนังแบบนั้นให้กับคนดู คนแบบนี้ นายทุนชอบนักแล เพราะทำหนังมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง โดนนักวิจารณ์พากันส่งเสียงด่ามาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ พวกเขาก็ไม่เค้ยไม่เคยที่จะทำให้ “คนจ่ายตังค์” นั่งโอดโอยโวยวายว่า นี่กรูตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรืออย่างไร จะมาซีจงซีจีหรือลงทุนคืนชีพฮีโร่เป็นร้อยๆ ล้าน นำเสนอสาระซับซ้อนสะท้อนสังคมสังคังอะไรกันวุ่นวาย แต่ทำรายได้หรอมแหรม ยังงั้น นายทุนไม่มีทางปลื้มหรอกครับ

ต่างจากพจน์ อานนท์ ที่ไม่ว่าจะประเคนโปรเจคต์อะไรขึ้นไป ก็ดูจะสะดวกโยธินสิ้นอุปสรรคไปทั้งหมด แข้งขาของบรรดานายทุนพร้อมจะถ่างอ้ารอรับเสมอๆ เพราะถึงอย่างไร ก็เชื่อได้ว่า มันไม่น่าจะทำให้ผู้จ่ายเงินเจ็บตัวอย่างแน่นอน

ลองย้อนกลับไปดูสิครับ ในช่วงหลายปีมานี้ มีหนังเรื่องไหนบ้างของเจ๊พจน์ ที่ทำให้นายทุนโอดครวญอย่างเสียดายตังค์ ไม่มีทั้งนั้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่ยิ้มหน้าบาน ก็ยิ้มระรื่นพองาม เพราะเมื่อสรุปตัวเลขกันแล้ว กำไรเหนาะๆ ด้วยกันทั้งนั้น

อย่างที่ผมเคยพูดไว้บ่อยครั้ง คุณพจน์ อานนท์ แกเป็นคนที่เจ๋งอยู่อย่าง คือ คิดเร็ว ทำเร็ว พูดภาษาเซลล์ก็ต้องบอกว่าปิดจ๊อบได้ไวโคตร ไอ้ประเภทที่ว่าจะมาทำลีลา เป็นมวยเอกขายชั้นเชิง หรือใช้เวลาปั้นโปรเจคต์กันสี่ซ้าห้าปีแล้วถ่ายอีกสองปี ก่อนจะได้ฉายในปีที่แปดนี่ ดูจะไม่มีอยู่ในสารานุกรมของพจน์ อานนท์

เพราะสำหรับเขา คิดวันนี้ อีกเดือนสองเดือน เก็บตังค์คนดูได้เลย

ไม่เรียกว่าอัจฉริยะ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรได้แล้วล่ะครับ

แน่นอน ใครบางคน อาจแย้ง “ก็เขาสุกเอาเผากิน” อันนี้ ผมว่าก็แล้วแต่รสนิยมและความเชื่อ

แต่สิ่งที่เป็นหลักฐานความจริงชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็คือว่า คุณพจน์ อานนท์ เป็นคนที่ไม่ทำให้นายทุนผิดหวัง และที่สำคัญ เป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว เคลมเร็ว ยิ่งกว่าประกันรถยนต์บางยี่ห้อ เหมือนนักฟุตบอลเก๋าเกม เขี่ยนิดสะกิดหน่อย ลากเลื้อยอีกเล็กน้อย ชู้ตเข้าประตูได้เลย

ก็ดูง่ายๆ เมื่อปีสองปีก่อน ทันทีที่มีข่าวร้อนข่าวร้ายในช่วงปีใหม่ ความหัวไวของคุณพนจ์ อานนท์ ก็ก่อให้เกิดผลิตผลเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ตายโหง” ออกมา อย่างทันท่วงที ควันไฟในผับแห่งนั้นยังไม่ทันจางเสียด้วยซ้ำ หนังของแกก็เสร็จออกมาฉายโรงอย่างไม่ทิ้งกระแส

มาคราวนี้ ก็เช่นกัน

หลังจากข่าวคราวเกี่ยวกับการทำแท้งโด่งดังเป็นข่าวหน้าหนึ่ง เสือปืนไวและหัวไวอย่างคุณพจน์ อานนท์ ก็กระวีกระวาดจัดโต๊ะแถลงข่าวจับจองว่าจะหยิบเอาเรื่องนี้มาทำเป็นหนัง ราวกับกลัวว่าจะมีคนมือไวแฮ็บเอาสุดยอดไอเดียนี้ไปก่อน

คือถ้านับจากวันนั้น (23 พ.ย.2553) วันที่เขาแถลงข่าว มาจนถึงวันนี้ที่หนังเข้าโรง สิริรวมเวลาแล้วก็แค่ 3 เดือนกว่าๆ เท่านั้นเองครับ!!

“ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน”

ร้อนขนาดไหน ฉุกละหุกกันเพียงใด ก็ดูอย่างชื่อตัวละครก็ได้ครับ ผมดูแล้วก็เป็นงง เพราะอย่างตัวละครที่ “เต๋า-สมชาย เข็มกลัด” แสดงนั้น ผมก็ได้ยินว่าเขาชื่อ “ตรี” เวลาตัวละครตัวอื่นเรียก ก็เรียก “ตรี” ด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำมั้ยทำไม พอเอ็นเครดิตขึ้นมา กลับเป็นว่าชื่อ “ตรัย” ส่วนเด็กสาวมัธยมในเรื่องที่ชื่อ “ขวัญ” นั่นก็เหมือนกัน ผมเห็นแฟนเธอและคนอื่นๆ เรียก “ขวัญๆๆ” กันทั้งเรื่อง แต่พอเอ็นเครดิตขึ้นมา กลับเป็นว่าชื่อ “เบล” อืมมม…ให้มันได้อย่างงี้สิครับ พับผ่าสิ!!

ไม่ใช่จะมาจับผิดจับถูกอะไรกันนะครับ เพราะส่วนหนึ่ง ก็รู้ว่า งานเร่งงานรีบ มันย่อมต้องมี “หลุดรั่ว” กันบ้างล่ะ นี่เป็นเรื่องธรรมดา และก็เป็นความฮาที่ผมได้มาจากการดูหนังเรื่องนี้

“ศพเด็ก 2002” นั้น มีแกนกลางของเรื่องราวอยู่ที่ครอบครัวๆ หนึ่ง ฝ่ายสามีเป็นผู้สื่อข่าว (เต๋า-สมชาย เข็มกลัด) ภรรยาเป็นครู (เมย์-พิชญ์นาฎ สาขากร) ทั้งสองมีลูกสาวตัวน้อยๆ หนึ่งคน ซึ่งบิลต์ความหลอนกันตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะเธอมักจะทำให้พ่อแม่ประหลาดใจได้เรื่อยๆ ว่า เธอเห็น “น้อง” ยืนรออยู่ ทำไมไม่รับ “น้อง” กลับบ้านด้วย โดยเฉพาะเวลาที่นั่งรถผ่านหน้าวัด (ป้ายวัดไผ่เงิน โต้งๆ ชัดๆ) เธอก็จะถามพ่อแม่ว่า ทำไมไม่รับน้องไปด้วย

แน่นอนครับ “น้อง” ในความหมายของเธอ ก็คงเป็นอะไรที่เราก็คง “คาดเดา” ได้อยู่แล้ว
โดยภาพรวมทั้งหมด ผมว่าความน่ากลัวนั้นไม่เท่าไหร่ ยิ่งถ้าดูหนังผีมาเยอะๆ จะพบว่า มันไม่มีอะไรใหม่ หรือมีอะไรให้รู้สึกสะพรึงกลัวเลย แม้หนังจะพยายามบิลต์พยายามสร้างบรรยากาศอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ก็เป็นเพียงเสียง “ผ่าง” เท่านั้นกระมังครับที่ทำให้เราสะดุ้งได้บ้าง ช็อตสองช็อต ซึ่งถ้าต้องการอะไรแบบนี้ ผมว่าเข้าไปดู “คลิปผี” ในยูทูบ ก็มีให้ได้สะดุ้งครือๆ กัน

สิ่งที่ผมคิด และอยากจะขอแสดงความนับถือคุณพจน์ อานนท์ มา ณ ที่นี้ด้วยใจจริง ก็คือว่า คุณพจน์เป็นคนทำหนังที่เก๋าจริงๆ ครับ เพราะหยิบจับอะไรๆ มาแต่งหน้าทาปากนิดๆ ก็เป็นหนังได้แล้ว เหมือนอย่างเรื่องนี้ ที่ก็เหมือนยกข่าวมาทั้งกระบิ เพราะว่าไม่จะเป็นหญิงทำแท้งเถื่อน สัปเหร่อ ไปจนถึงซากเด็กที่ถูกทำแท้ง ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในความจริง คุณพจน์ อานนท์ ก็เพียงเมคตัวละครขึ้นมาอีก 3-4 ตัว เท่านี้ก็เป็นหนังแล้ว

นั่นยังไม่นับเรื่องขององค์ประกอบอื่นๆ อีก ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นความจัดเจนของคนที่อยู่กับหนัง กินนอนกับหนัง และคงจะดูหนังผีมาเยอะ ก็เลยรู้ว่า ทำหนังผีหนึ่งเรื่อง มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าบรรยากาศของงานด้านภาพที่เน้นความมืดๆ ทึมๆ ไม่น่าไว้วางใจเข้าไว้ การแสดงของตัวละครก็ต้องมีซีนที่แสดงความหวาดระแวง มองโน่นมองนี่ เหมือนมองหาผียังไงยังงั้น ส่วนดนตรีประกอบรึ? ก็ต้องฟังดูหลอนๆ ตึ่งๆๆ มาเลยก่อนจะปล่อยผี (หรือบางที มีแค่ดนตรี แต่ผีไม่ออก หลอกให้คนดูรู้สึกหลอนเล่นๆ) จังหวะผ่างๆๆ ก็ยังมีให้เห็น เช่นเดียวกับมุกซ้ำๆ ซากๆ แบบว่าตัวละครโดนผีหลอกแทบเป็นแทบตาย แต่ทว่าสุดท้ายแล้ว “ที่แท้ก็ฝันไป”

ก็เข้าใจครับว่า เวลามันน้อย หยิบจับอะไรมาใช้สอยได้ ก็ต้องทำ ต้องปิดจ๊อบให้ได้ “มุก” หรือ “ลูกเล่น” ที่หนังผีเรื่องอื่นๆ ทำไว้ ถ้าหยิบมาใช้ได้แบบไม่น่าเกลียด ก็หยิบมา นั่นจึงไม่แปลกที่ผมจะรู้สึกว่า ขณะนั่งดูหนังเรื่องนี้ ลูกเล่นบางลูกเล่นของ “ศพเด็กฯ” ทำให้ผมนึกไปถึงหนังผีเรื่องอื่นๆ อย่างน้อย 2-3 เรื่อง เช่น “โคลิค เด็กเห็นผี” (อันนี้ชัด เพราะเด็กเห็นผีจริงๆ), “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” (เต๋าเป็นนักข่าวและต้องถ่ายภาพเอง ก็ถ่ายภาพติดเงาผีมาด้วย)

แต่ที่มันทำให้ผมทึ่งในอัจฉริยภาพความช่างปรับประยุกต์ของคุณพจน์ อานนท์ มากๆ เลย ก็คือ การไปหยิบเอาลูกเล่นแบบที่หนังผีฝรั่งที่ฮิตมากๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่าง Paranormal Activity ตอนที่ตัวละครเมย์กับเต๋าจะเข้านอน แล้วตั้งกล้องไว้จับภาพผี นี่มันให้บรรยากาศแบบ Paranormal Activity แบบไม่มีผิดเพี้ยนเลยล่ะ

“เก๋า” และ “เนียน” จริงๆ ครับ คุณพจน์ อานนท์!! ศพเด็ก 2002

บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวข้อน่าสนใจ